คุณสรินทร์ สุทธิภิรมย์รัก “ที่ The Golf Craft ไม่ว่าคุณจะจ่ายเงิน 100 บาท หรือ 10,000 บาท สิ่งที่คุณจะต้องได้รับกลับไปคือความพอใจที่เท่ากัน”
ปรับเปลี่ยนโฉมเพื่อต้อนรับการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ สำหรับร้าน The Golf Craft (เดอะ กอล์ฟ คราฟท์) หลังย้ายจากสาขาถนนพัฒนาการ มาเปิดร้านใหม่ที่คอนโด C Ekkamai สุขุมวิท 63 พร้อมกับโชว์รูมใหม่มาตรฐานระดับสากล และการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นําเข้า และจัดจําหน่ายผลิตภัณฑ์เอปอนอย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียว (Distributor) ในนาม เอปอน ประเทศไทย โดย เดอะ กอล์ฟ คราฟท์ (Epon Thailand by The Golf Craft)
แม้จะเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญ แต่ร้านยังคงชูโรงด้วยทีมฟิตติ้งคุณภาพที่นำทีมมาโดย “คิง” คุณสรินทร์ สุทธิภิรมย์รัก ที่อยู่กับร้านและแบรนด์ Epon มาตั้งแต่ต้น ถือเป็นผู้ที่ปลุกปั้นแบรนด์ Epon ให้เป็นแบรนด์ที่คนไทยรู้จักอย่างแท้จริง
ครั้งนี้ HotGolf มีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณสรินทร์ ถึงโฉมใหม่ของ The Golf Craft ในครั้งนี้ที่เขายืนยันว่า ยังคงเป็นการสื่อสารในมุมเดิม แต่มาในโฉมใหม่ที่พัฒนาให้ดีขึ้น
HG : ที่มาของร้าน The Golf Craft
คุณสรินทร์ : จุดเริ่มต้นของร้าน The Golf Craft แต่แรกเลยก่อตั้งโดยชาวญี่ปุ่น ด้วยเป้าหมายคือต้องการให้นักกอล์ฟที่เข้ามาใช้บริการสามารถเล่นกอล์ฟได้สนุกมากขึ้น โดยผมมีโอกาสได้เข้ามาทำงานที่นี่ครั้งแรกเลยก็เพราะอยากได้ความรู้เกี่ยวกับการทำไม้กอล์ฟ โดยผู้ก่อตั้งชาวญี่ปุ่นก็เป็นผู้ที่สอนผมทุกๆ อย่าง ไล่ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานอย่างเช่นการถอดเปลี่ยนกริพ ซึ่งจุดเด่นของการทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นคือ การมีมาตรฐานในการทำงานที่สูงมาก จากนั้นก็พัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ ผ่านหลักสูตรรวมถึงได้รับการรับรองในเลเวลต่างๆ จากสถาบันของต่างประเทศ
สำหรับในร้านจะมีสินค้าแบรนด์ Epon ซึ่งเป็นโปรดักส์ระดับพรีเมี่ยมฟอร์จจากทางญี่ปุ่น ที่มีจุดเด่นอยู่ที่ไม่ขายแบบสำเร็จรูป ขายเฉพาะแต่แบบประกอบอย่างเดียวเท่านั้น โดย Epon นั้นเป็นโปรดักส์ของโรงงานที่ตามจริงแล้วไม่ได้เน้นสินค้าด้านกอล์ฟมาแต่แรกเลย แต่เน้นผลิตสินค้าอื่นๆ มากกว่า ด้วยการที่ผมทำงานภายในร้าน จึงมีโอกาสคลุกคลีกับแบรนด์นี้ ได้เข้าไปภายในโรงงาน ได้เห็นขั้นตอนพัฒนาและผลิตทั้งหมด
ในขณะที่หลังจากนั้นตัวร้านก็มีการปรับเปลี่ยนเจ้าของมาเรื่อยๆ โดยที่ตัวผมเองมีโอกาสได้ดูแลส่วนงานต่างๆ มากขึ้น จากที่อยู่หลังร้านก็เริ่มขยับมาอยู่หน้าร้าน เพื่อพูดคุยกับทั้งลูกค้า รวมถึงกับแบรนด์ Epon ที่ประเทศญี่ปุ่นโดยตรง จนมาถึงจุดหนึ่งหลังจากสั่งสมประสบการณ์การบริหารร้าน ประกอบกับเจ้าของคนล่าสุดต้องการจะขายร้าน ผมจึงตัดสินใจที่จะทำร้านต่อเอง โดยมีหุ้นส่วนมาช่วยลงทุนด้วย รวมถึงหนึ่งในหุ้นส่วนคือ “โปรเด่น” ชวินโรจน์ สิริกุลพัชร ที่เคยเป็นลูกค้าของเรามาก่อนตัดสินใจมาร่วมลงหุ้นด้วย จนกลายมาเป็น The Golf Craft ในปัจจุบัน
HG : ทำไมถึงใช้ชื่อร้าน The Golf Craft
คุณสรินทร์ : ผมไม่เคยถามเจ้าของร้านคนแรกว่าทำไมถึงตั้งชื่อร้านว่า The Golf Craft แต่สิ่งที่เขาบอกผมคือ ให้ทำงานเหมือนกับชื่อร้าน สมัยนั้นต้องยอมรับว่ามีการหยิบคำว่า Craft มาใช้น้อยมาก ผมเองพูดตามตรงเลยว่าถึงขั้นต้องเปิดดิกชันนารีขึ้นมาหาความหมายของคำๆ นี้ ส่วนใหญ่แล้วในต่างประเทศเป็นคำที่มักจะพูดถึงงานฝีมือประเภทต่างๆ เป็นงานที่อาศัยความละเมียดและพิถีพิถัน ผ่านการคิดวิเคราะห์และทดลองในขั้นตอนต่างๆ มาเป็นอย่างดี มีความเป็นงานฝีมือที่เฉพาะทางมาก และนั่นคือรูปแบบและแนวคิดในการทำงานของร้าน The Golf Craft
HG : ลูกค้าชอบอะไรมากที่สุดใน The Golf Craft
คุณสรินทร์ : ลูกค้าของเราที่นี่ทุกคนคือ คนที่รักกีฬากอล์ฟ ตีกอล์ฟเพราะความชอบจริงๆ หลายคนที่ยังติดตามมาใช้บริการหลังจากย้ายสาขาเป็นเพราะเขาเชื่อมั่นในการทำงานของเรา ไว้ใจในขั้นตอนการทำงานของช่าง รวมถึงสิ่งสำคัญที่เรามีคือประสบการณ์ ความรู้ที่เราสั่งสมมาไม่ได้มาจากแค่แต่ในหนังสือเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นจากการพูดคุย, การทำ และการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในการทำไม้กอล์ฟมานานกว่า 20 ปี
HG : หัวใจสำคัญของการทำงานฟิตติ้งคืออะไร
คุณสรินทร์ : แน่นอนว่าคือการทำให้ลูกค้าพอใจในมุมมองของตัวเขาเอง สิ่งสำคัญคือไม่ว่าคุณจะจ่ายเงิน 100 บาท หรือ 10,000 บาท สิ่งที่คุณจะต้องได้รับกลับไปคือความพอใจที่เท่ากัน บางครั้งการฟิตติ้งอาจจะไม่ได้ทำให้คุณตีกอล์ฟได้ดีขึ้น แต่สิ่งที่คุณจะต้องได้รับคือความพอใจที่ได้ตีไม้ที่ฟิตติ้งกลับไป
HG : วางคอนเซ็ปต์ร้านไว้อย่างไรบ้าง
คุณสรินทร์ : สิ่งที่เราต้องการคือ สื่อสารในมุมเดิม แต่พัฒนาให้ดีขึ้น รวมถึงโลเคชั่นที่ต้องการย้ายจากที่เดิมคือถนนพัฒนาการ มาอยู่ในจุดที่มีความเป็นไพรม์แอเรียมากขึ้น กระทั่งมาได้สถานที่ที่คอนโด C Ekkamai ขณะที่คอนเซ็ปต์ของร้านตามแนวคิดเดิมของ The Golf Craft ก็คือ ความพร้อมของเครื่องมือในฐานะเป็นการช่างฝีมือในด้านฟิตติ้ง เครื่องมือของเราต้องพร้อมอยู่เสมอ เราจึงขยับขยายเป็นสองห้อง ห้องหนึ่งคือห้องของช่างสำหรับไว้บริการนักกอล์ฟที่ต้องการมาฟิตติ้ง เราทำเป็นห้องกระจกเพื่อโชว์ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือที่เรามี รวมถึงการทำงานของเรา ซึ่งผมให้ความสำคัญมากว่าตัวห้องต้องมีขนาดใหญ่ เพื่อให้ช่างทำงานได้สะดวก เวลาทำงานแล้วไม้กอล์ฟต้องไม่ต้องกระทบกระแทกกัน ส่วนพื้นก็ให้ความสำคัญว่าถ้ากรณีไม้หล่นพื้นแล้วต้องไม่เป็นรอย เพราะว่าไม้กอล์ฟของ Epon นั้นมีราคาที่ค่อนข้างสูง รวมถึงห้องกอล์ฟซิมูเลตอร์ที่ไว้ทดสอบไม้ที่เราทำจากฟีดแบ็คของสาขาก่อนที่หลายคนติงว่า เพดานเตี้ยเกินไป ที่ร้านนี้ของเราจึงทำให้เพดานสูงขึ้น ส่วนอีกห้องหนึ่งคือโชว์รูมที่ไว้โชว์และสินค้าที่เป็นของแบรนด์ Epon เท่านั้น อาทิ แอคเซสซอรี่ต่างๆ ด้วยแผนการที่เรามี ผมได้นำไปเสนอกับทาง Epon ที่ประเทศญี่ปุ่น จนทางนั้นแต่งตั้งเราเป็นตัวแทนนำเข้าและจัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย
HG : ถึงตอนนี้ร้านถือว่าเสร็จสมบูรณ์ 100% แล้วหรือยัง
คุณสรินทร์ : ยังครับ ผมคิดว่าภายในร้านเราจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องของโปรดักส์ที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับสิ่งที่คนจีนเชื่อว่ามันเป็นเรื่องของพลังหมุนเวียน เมื่อถึงจุดหนึ่งเราอาจจะต้องเปลี่ยน หรือเพิ่มในส่วนต่างๆ เข้ามา เปรียบเหมือนกับการพัฒนาร้านอยู่ตลอดเวลา
HG : พอใจกับการปรับเปลี่ยนร้านครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน
คุณสรินทร์ : ผมคิดว่า The Golf Craft ในปัจจุบันสามารถถ่ายทอดความเป็นแบรนด์ Epon ของเราออกมาได้เป็นอย่างดี เพราะ Epon เป็นแบรนด์ที่พิเศษ คุณไม่สามารถถือเงินมาซื้อมันกลับไปได้ในทันที คุณต้องทดสอบและฟิตติ้งเพื่อให้ได้สเป็คไม้ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณกลับไป เหมือนกับที่ร้าน The Golf Craft เป็นในตอนนี้ เรามีห้องกอล์ฟซิมูเลเตอร์ขนาดใหญ่ไว้ลองไม้และใช้เวลากับมันอย่างเต็มที่ ขณะที่ห้องทำงานของช่างที่ใหญ่ก็ช่วยซัพพอร์ทการทำงานได้ดีขึ้น
HG : แม้จะเน้นแบรนด์ Epon แต่ที่ร้านก็รับฟิตติ้งแบรนด์อื่นๆ ด้วย
คุณสรินทร์ : เรารับทุกแบรนด์ครับ ด้วยปรัชญาในการทำงานของเราคือ ฟิตติ้งให้ได้ไม้กอล์ฟที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณกลับไป สำหรับเราแล้วไม้กอล์ฟทั้ง 14 ชิ้นในถุงนั้นไม่จำเป็นต้องเป็น Epon ทั้งหมดเสมอไป หรือไม่จำเป็นต้องเป็นแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเท่านั้น ผมคิดว่าไม้กอล์ฟทุกแบรนด์ต่างมีจุดเด่นอยู่ในแต่ละตัว หน้าที่ของเราคือฟิตติ้งมันเพื่อให้ทำงานกับนักกอล์ฟคนนั้นๆ ได้ดีที่สุด