Golf Fitness : อาการตะคริวสำหรับนักกอล์ฟ
สวัสดีครับแฟนๆ นิตยสาร HotGolf ในครั้งนี้ผมจะมาแนะนำวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น สำหรับนักกอล์ฟที่มีอาการตะคริว
“ตะคริว” เราจะเรียกว่า “Cramp หรือ Muscle Cramp” ตรงส่วนด้านหลังหน้าแข้งคือ “น่อง” (Calf) เราจะเรียกว่า “กลุ่มกล้ามเนื้อเท้า” (Calf Muscles) เพราะมีส่วนที่ควบคุมการทำงานของเท้า/ข้อเท้าด้วยครับ กล้ามเนื้อบริเวณน่องของคนเราที่เห็นเป็นตัวน่องหลักๆ แล้ว จะประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อใหญ่ 2 มัด คือ “Gastrocnemius” และ “Soleus Muscles” โดยกล้ามเนื้อทั้งสองมัดนี้จะมีที่เกาะต้น (Origin) อยู่ด้านหลังเหนือข้อเข่าเล็กน้อยทางด้านหลัง โดยจะเกาะที่กระดูกต้นขา (Femur) ส่วนล่างและที่เกาะปลาย (Insertion) ที่บริเวณกระดูกส้นเท้า (Calcaneus) โดยก่อนที่จะมาเกาะจะไม่ใช่เป็นตัวกล้ามเนื้อ แต่จะรวมตัวกันเป็นเอ็นร้อยหวาย (Achilles Tendon) ท่านลองจับน่องของเราดูและลองขยับข้อเท้าขึ้นลง แล้วค่อยๆ คว่ำลงต่ำไปที่เอ็นร้อยหวายบริเวณส้นเท้าครับ
วิธีรักษาเบื้องต้น (First Aid)
หากเป็นตะคริวที่น่อง ให้เหยียดหัวเข่าให้ตรง และดึงปลายเท้ากระดกเข้าหาหัวเข่าให้ได้มากที่สุดอย่างช้าๆ (อย่ากระตุกหรือกระชากอย่างรวดเร็ว เพราะจะทำให้เจ็บปวดจนกล้ามเนื้อฉีกขาดได้) และอาจเอื้อมมือไปดึงปลายเท้าเข้าหาตัวด้วยก็ได้ โดยให้ทำค้างไว้ประมาณ 1-2 นาที
ที่จริงแล้วสาเหตุที่เกิดตะคริว หลักๆ ของนักกอล์ฟคือ
- ภาวะเกลือแร่ในเลือดต่ำ หรือร่างกายเสียสมดุลของเกลือแร่ที่ใช้ในการทำงานของกล้ามเนื้อที่สำคัญ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม เสียเหงื่อมากจากการเล่นกีฬา หรือ อากาศที่ร้อน
- ดื่มน้ำน้อย ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ
- เดินต่อเนื่องไม่ได้พัก หรือ เดินขึ้นเขา เดินเร็ว รีบเล่นเกินไป (อาจเป็นเพราะก๊วนหลังจี้)
- ความแข็งแรงของขามีน้อย จึงส่งผลให้มวลกล้ามเนื้อลดลง รวมทั้งการขาดการออกกำลังยืดกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อตึงจนเกิดเป็นตะคริว
เรื่องโดย: ณัฐ ณ สงขลา นักกายภาพบำบัด สโมสร แอร์ฟอร์ซ เซ็นทรัล โครงการ ThaibevThaitalent