Site icon เว็บไซต์ HotGolfClub.com เว็บไซต์กีฬากอล์ฟอันดับหนึ่ง ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์ต่อวงการกอล์ฟ และอยู่เคียงคู่กับนักกอล์ฟมายาวนานกว่า 20 ปี

Golf Fitness : เทคนิคการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ สำหรับนักกอล์ฟ

ก่อนหน้านี้ ผมได้แนะนำเรื่องของการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ก่อนการเล่นกีฬาที่จะช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บ และยังช่วยส่งเสริมให้ท่านสามารถดึงประสิทธิภาพออกมาใช้งานได้มากที่สุดแล้ว และครั้งนี้ ผมมีเทคนิคในการยืดเหยืยดกล้ามเนื้อในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการทำงานของกล้ามเนื้อในแต่ละส่วนครับ

1. การยืดเหยียดแบบหยุดนิ่งกับที่ (Static streching) โดยยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่ต้องการเพิ่มความยืดหยุ่นอย่างช้าๆ ไปจนถึงจุดที่มีอาการตึงของ กล้ามเนื้อไม่สามารถยืดต่อไปได้ และค้างไว้ในท่านั้นๆ ประมาณ 10-30 วินาที แล้วจึงปล่อย ควรยืดซ้ำ 3-4 ครั้ง จะทำให้กล้ามเนื้อเกิดการผ่อนคลาย และเพิ่มความยืดหยุ่น ควรใช้ในขั้นตอนสุดท้ายของวันหรือหลังออกรอบเสร็จก็ได้ครับ

2. การยืดเหยียดแบบเคลื่อนไหว (Dynamic streching) เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อโดยมีการเคลื่อนไหวแขน ขา หรือลำตัว ตามรูปแบบการเคลื่อนไหวในแต่ละชนิดกีฬา ดังนั้น ท่าทางของนักกอล์ฟก็ต้องปรับรูปแบบการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อให้เหมาะกับนักกอล์ฟด้วยครับ เทคนิคนี้จะเหมาะสำหรับการอบอุ่นร่างกาย ก่อนที่จะซ้อมในแต่ล่ะวัน

3. การยืดเหยียดกล้ามเนื้อแบบ PNF (Proprioceptive Neuromuscular Facilitation) เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อแบบกระตุ้นการรับรู้ของระบบประสาทภายในกล้ามเนื้อให้เกิดความคล่องตัว โดยอาศัยการหด และคลายตัวของกลุ่มกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการเคลื่อนไหวโดยตรง (Agonist) สลับกับกลุ่มกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ตรงข้ามกับการเคลื่อนไหว (Antagonist) เทคนิคการยืดเหยียดแบบ PNF ที่นิยมนำมาใช้ปฏบัติ เช่น เทคนิค Contration Relax และเทคนิค Hold-Relax เป็นต้น

4. การยืดเหยียดกล้ามเนื้อแบบกระทำเป็นจังหวะ (Ballistic streching) เป็นการยืดเหยียดโดยมีการเคลื่อนไหวเป็นจัวหวะซ้ำๆ โดยอาศัยการยืด และหดตัวดึงกลับของกล้ามเนื้อและเอ็นส่วนที่ต้องการยืดในจังหวะสุดท้ายของการเคลื่อนไหว คล้ายการกระดอนหรือสปริงตัวกลับ แต่ข้อเสียคือ จะเกิดแรงต้านขณะมีการเคลื่อนไหวแบบเร็วๆ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งตัวต้านขณะถูกยืด ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บได้

แน่นอนว่า สำหรับนักกอล์ฟแล้ว ผมจะแนะนำเทคนิคการยืดเหยืยดกล้ามเนื้อ 2 แบบ คือ Dynamic และ Static ทั้งสองแบบนี้ จะเหมาะทั้งก่อน และหลังออกรอบ สามารถที่จะช่วยส่งเสริมการทำงานของวงสวิงได้ดีอีกด้วยครับ

เรื่องโดย: โปรแจ็ค นพไพสิษฐ์ กัณหาเจริญ / กพ.ณัฐ ณ สงขลา #331