สวัสดีท่านนักกอล์ฟ และสมาชิกทุกๆ ท่านครับ ในครั้งนี้เราจะมาพูดถึงอาการบาดเจ็บแบบฉับพลัน ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้ว เราควรทำอย่างไรบ้าง โดยนักกอล์ฟอาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง เพราะมีการออกแรงทำซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง
การดูแลรักษาเมื่อมีการบาดเจ็บเฉียบพลัน (Acute injury management)
การบาดเจ็บเฉียบพลัน (Acute injury) เป็นการบาดเจ็บที่เกิดทันทีหลังจากได้รับอุบัติเหตุหรือมีแรงมากระทำ โดยการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุที่ได้รับมีความรุนแรงมากพอที่จะทําให้เกิดอาการบาดเจ็บขึ้นมาในทันทีและมักจะมีอาการอักเสบ ซึ่งได้แก่ ปวด บวม แดง ร้อน ตามมา
อาการบาดเจ็บเฉียบพลัน ได้แก่ กล้ามเนื้อฉีก กล้ามเนื้อฟกช้ำ ตะคริว เอ็นข้อเท้าพลิก เส้นเอ็นฉีกขาด หรือแม้แต่กระทั่งกระดูกหัก เป็นต้น
การรักษา
หลักการทั่วไปของการรักษาเบื้องต้นเมื่อมีอาการบาดเจ็บเฉียบพลัน คือ ลดอาการปวดและป้องกันการบาดเจ็บเพิ่ม สามารถทำได้โดยใช้หลักการ RICE
- R-Rest พักการใช้งานบริเวณที่ได้รับการบาดเจ็บ โดยควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระตุ้นอาการปวด
- I-Ice ประคบเย็นจะช่วยลดการบวมและอาการปวด โดยควรประคบนานประมาณ 10 ถึง 15 นาที
หรือจนรู้สึกชา ควรทําหลังจากได้รับบาดเจ็บทันทีและสามารถทําซ้ำได้ทุก 4 ชั่วโมง
- C-Compression การพันรอบบริเวณที่เจ็บโดยใช้ผ้ายืด (elastic bandage) เพื่อลดอาการบวมและลดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บ ระวังไม่ควรพันแน่นจนเกินไปนะคะ และสามารถพันทับ Ice เพื่อหวังผลทั้งสองอย่างไปพร้อมกันได้ค่ะ
- E-Elevation การยกหรือวางส่วนหรือกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บให้สูงเพื่อให้เลือดไหลลงกลับเข้าสู่หัวใจ ลดอาการบวมได้ค่ะ
*** เนื่องจากการพักการใช้งานนั้นทำได้ยากมาก โดยเฉพาะในนักกีฬาที่จำเป็นต้องมีการฝึกซ้อมและการแข่งขันอยู่เสมอ ในปัจจุบันจึงมีหลักการใหม่สำหรับการรักษาเบื้องต้นเมื่อเกิดการอักเสบเฉียบพลัน คือ POLICE
- P-Protection: ให้พักการใช้งาน หากไม่สามารถพักการใช้งานได้ ให้ใช้งานโดยมีการป้องกันที่เหมาะสม เช่น การติดเทป เป็นต้น
- OL- Optimal loading: ในกรณีที่การบาดเจ็บมีผลต่อการลงน้ำหนัก ให้ค่อยๆลงน้ำหนักเท่าที่ได้ตามความเหมาะสม เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวและกลับไปใช้งานส่วนที่บาดเจ็บได้ไวขึ้น
- I – Ice
- C – Compression
- E – Elevation
น้องๆ นักกีฬา และผู้ปกครองหลายคนมีความสับสนในการเลือกใช้ความเย็นหรือความร้อนในการรักษาอาการต่างๆ โดยมิวจะอธิบายง่ายๆ คือ
1. ความร้อน (Hot)
– เราใช้ความร้อนในการรักษาอาการเจ็บปวดในกรณีของอาการปวดตึงที่ไม่ใช่เกิดจากการอักเสบหรือเป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นใหม่
อธิบายเพิ่มเติม
– ใช้ความร้อนประคบบริเวณส่วนที่เจ็บเพื่อให้ความร้อนทำให้เนื้อเยื่อส่วนที่ตึง เกร็งหรือหดรั้งสามารถยืดได้ง่ายขึ้น ช่วยลดอาการเจ็บ ตึง
– ความร้อนจะเพิ่มการไหลเวียนเลือดและทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นขยายตัว ซึ่งช่วยให้ของเสียที่คั่งค้างเป็นสาเหตุหนึ่งของความเจ็บปวดถูกนำออกไป รวมถึงช่วยนำสารอาหารและออกซิเจนเข้าไปช่วยซ่อมสร้างเซลล์
2. ความเย็น (Cold)
– ใช้ในกรณีที่เป็นการอักเสบ หรือการบาดเจ็บใหม่คือมีอาการเจ็บเกิดภายใน 24-48 ชั่วโมงแรก
อธิบายเพิ่มเติม
– อาการที่บ่งบอกถึงการอักเสบ ได้แก่ อาการปวด บวม แดง และร้อน
– ควรเลือกใช้ความเย็นในการรักษาจนกว่าการอักเสบจะลดหาย หรือใช้ต่อเนื่องอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 48 ชั่วโมง ภายหลังการบาดเจ็บ
– ความเย็นจะช่วยลดอาการเจ็บและทำให้การไหลเวียนเลือดลดลงในบริเวณที่ประคบซึ่งทำให้ไม่บวมเพิ่มขึ้น
การรักษาอื่นๆ ที่นักกีฬาและผู้ปกครองนิยมคือ การใช้ยาต้านการอักเสบ (anti-inflammatory drugs) เช่น Ibuprofen, diclofenac สามารถช่วยลดอาการปวด ทำให้สามารถเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น แต่ขอไม่แนะนำให้ใช้ยาต้านอักเสบเป็นเวลานาน เนื่องจากมีงานวิจัยหลายงานบ่งชี้แล้วว่ายาเหล่านี้จะลดความสามารถในการซ่อมแซมกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น
ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดที่แนะนำ และสามารถทำได้ด้วยตัวเองหากได้รับการบาดเจ็บหลังจากแข่งขัน คือ การใช้หลักการ POLICE หากมีอาการที่รุนแรงหรือไม่สามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง แนะนำให้ไปพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อทำการตรวจร่างกาย วินิจฉัยอย่างละเอียดและแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไปครับ
เรื่องโดย: โปรแจ็ค นพไพสิษฐ์ กัณหาเจริญ / กพ.ณัฐ ณ สงขลา #349