กำลังจะเปิดฉากขึ้นในวันนี้แล้ว (24 ก.ย.) สำหรับศึกกอล์ฟแห่งศักดิ์ศรี “ไรเดอร์คัพ ครั้งที่ 43” ระหว่างทีมสหรัฐฯ ที่เปิดบ้านสนามกอล์ฟวิตส์ลิ่ง สเตรท ในรัฐวิสคอนซิน ต้อนรับทีมคู่ปรับยุโรป ระหว่างวันที่ 24-26 กันยายน 2021 นี้
ไรเดอร์คัพคราวนี้ถือเป็นครั้งที่แฟนกอล์ฟรอคอยอย่างแท้จริง หลังต้องเลื่อนการแข่งขันมาจากปีที่แล้ว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้ในทีแรกมีการเสนอความเห็นว่าอาจเปลี่ยนเป็นการจัดแข่งขันแบบปิด ไม่อนุญาตให้มีผู้ชมในสนาม แต่แน่นอนว่าความคิดเห็นดังกล่าวต้องตกไป เพราะ “ถ้าไม่มีผู้ชม ย่อมไม่ชมไรเดอร์คัพ”
ขณะที่การเผชิญหน้าของทั้งสองทีมถือว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าสนใจ เมื่อสหรัฐฯ ของกัปตันทีม สตีฟ สตริคเกอร์ ขอใช้สิทธิ์เลือกผู้เล่นเข้าทีมมากถึง 6 คน หรือครึ่งทีมเลยทีเดียว ขณะที่แม้แรงกิ้งอันดับโลกเฉลี่ยของทีมจะดูดีกว่ายุโรปอยู่มาก แต่ถ้าพูดถึงประสบการณ์น้อยกว่าชัดเจน เมื่อมีรุกกี้มากถึง 6 คน
นั่นเป็นเสมือนช่องทางให้ทีมยุโรปของกัปตันทีม เปแดร็ก แฮร์ริงตัน แก้เกม ด้วยการเน้นผู้เล่นประสบการณ์สูง โดยเฉพาะการเลือกผู้เล่นอย่าง เซอร์จิโอ การ์เซีย, เอียน โพลเตอร์ และ เชน ลอว์รีย์ ในฐานะไวลด์การ์ด
แต่ไม่ว่าหน้าเสื่อจะเป็นอย่างไร “ไรเดอร์คัพ” ก็ยังคือการแข่งขันที่คาดเดาได้ยากเสมอ และนี่เป็นเพียงหนึ่งในเหตุผลว่า ทำไม ไรเดอร์คัพ ถึงเป็นการแข่งขันที่แฟนกอล์ฟเฝ้ารอมากที่สุดในโลก
โดยเฉพาะเมื่อรวมกับอีก “5 เหตุผล” ที่เราจะมาบอกในครั้งนี้ว่า ทำไม ไรเดอร์คัพ ถึงคือการแข่งขันกอล์ฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก…และนั่นยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าทำไมคุณไม่ควรพลาดการแข่งขันครั้งนี้…
แท่นทีหลุมแรกที่เร้าใจที่สุด
กล่าวกันว่าช็อตที่เล่นยากที่สุดของเกมกอล์ฟคือ ช็อตแรกของหลุมแรก ชนิดที่ถึงแม้จะเป็นโปรกอล์ฟก็ต้องมีอาการประหม่าหรือตื่นเต้นอยู่บ้างเล็กน้อย โดยเฉพาะในการแข่งขันสำคัญๆ หรือรายการใหญ่ๆ แต่คงไม่มีหลุมแรกของรายการไหนที่จะให้ทั้งความกดดันและเร้าใจไปพร้อมกันได้มากกว่าหลุมแรกของไรเดอร์คัพอีกแล้ว
แท่นทีที่หลุมแรกของไรเดอร์คัพถือเป็นมนต์เสน่ห์ที่รายการกอล์ฟใดยากจะเลียนแบบ ในขณะที่รายการทั่วไปคุณอาจจะได้เห็นหรือได้ยินเพียงเสียงปรบมืออย่างมีมารยาทเมื่อนักกอล์ฟเดินออกมาและมีการแนะนำตัว แต่ที่ไรเดอร์คัพคุณจะได้ยินเสียงตะโกนเชียร์ปลุกเร้าจากกองเชียร์ของทั้งสองฝั่ง หรือบางก็ร้องเพลงเชียร์ ถึงขั้น “แม็ตต์ คูชาร์” นักกอล์ฟมากประสบการณ์ของทีมสหรัฐฯ เคยเผยว่า บรรยากาศดังกล่าวทำเอานักกอล์ฟบางคนถึงกับไม่กล้าไดร์ฟที่หลุมแรกนี้เลยทีเดียว
ในการแข่งขันไรเดอร์คัพ 2018 ครั้งที่แล้ว ถือเป็นหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์ของการแข่งขัน เมื่อแท่นทีหลุมแรกของ เลอกอล์ฟ เนชั่นแนล นั้นสร้างแกรนด์สแตนด์เพื่อรองรับผู้ชมไว้ได้มากถึง 7,000 ที่นั่ง ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการแข่งขัน ขณะที่แม้ครั้งนี้ที่วิตส์ลิ่ง สเตรท จะทำได้เพียงครึ่งเดียวที่ 3,500 ที่นั่ง แต่เชื่อว่าความเข้มข้นเร้าใจก็จะยังมีอยู่เต็มเปี่ยมแน่นอน
คัดเฉพาะสุดยอดฝีมือเข้าแข่งขัน
บางชนิดกีฬาในการที่ทีมจะคัดเลือกผู้เล่นมาร่วมทีม ก็อาจจะมีการตั้งโค้ชมาทำหน้าที่ดังกล่าว แต่กับไรเดอร์คัพเพื่อเป็นการมั่นใจว่าคุณจะได้เห็นผู้เล่นที่ดีที่สุด 24 คนจากฝั่งสหรัฐฯ และฟากยุโรป พวกเขามีระบบในการคัดเลือกผู้เล่นเข้าทีมที่แตกต่างออกไป โดยมีการเก็บคะแนนสะสมเป็นเวลาเกือบหนึ่งปีเต็มเพื่อให้มั่นใจว่า ทั้งสองทีมจะได้ผู้เล่นที่ดีที่สุดในขณะนั้นมาร่วมทีม
อย่างไรก็ตาม ด้วยการเป็นการแข่งขันที่จะต้องมีเรื่องกลยุทธ์เข้ามาใช้ด้วย ทำให้ยังมีการเปิดโอกาสให้กับกัปตันทีมของทั้งสองทีมสามารถเลือกผู้เล่นที่มองว่าสามารถเข้ามาช่วยทีมได้ ผ่านโควต้าไวลด์การ์ด อย่างที่เราเรียนไว้ข้างต้นว่า คราวนี้ขอสหรัฐฯ ขอเพิ่มสิทธิ์ในการเลือกผู้เล่นของกัปตันทีมมากถึง 6 คน
และหลายครั้งผู้เล่นที่มาจากโควต้าไวลด์การ์ดนี่ล่ะที่คือ ผู้ที่ช่วยชี้ชะตาให้กับทีมอย่างแท้จริง
พวกเขาเล่นเพื่อศักดิ์ศรี ไม่ใช่เพื่อเงิน!!
หลายครั้งเมื่อเห็นผู้เล่นของทั้งฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป ใส่พลังสู้กันอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า พวกเขาได้เงินรางวัลเท่าไหร่กัน ถึงต้องทุ่มเทขนาดนี้ แต่คำตอบคือ พวกเขาไม่ได้เงินเลยจากการลงแข่งขันรายการนี้แม้แต่สตางค์เดียว
การได้ลงเล่นในไรเดอร์คัพถือเป็นเกียรติประวัติสำคัญของผู้เล่นที่มาจากสหรัฐฯ และยุโรปทุกคน ถือเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรี และผู้เล่นทุกคนลงเล่นเพื่อชัยชนะ แม้ว่าจะไม่ได้เงินเลยจากการช่วยทีม ทั้งที่ไรเดอร์คัพเป็นการแข่งขันที่มีมูลค่าสูงที่สุดของวงการกอล์ฟ และสร้างเม็ดเงินได้หลายสิบล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ครั้งหนึ่ง ไทเกอร์ วูดส์ เคยถูกนักข่าวถามว่า เขาจะเลือกอะไรระหว่างการคว้าแชมป์ที่มีเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐฯ กับการได้ลงเล่นในไรเดอร์คัพ และคิดว่าทุกคนต่างรู้คำตอบของคำถามนี้ดี
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าผู้เล่นของทีมสหรัฐฯ ทุกคนจะได้รับเงินจากสมาคมนักกอล์ฟอาชีพของสหรัฐฯ หรือ พีจีเอ ออฟ อเมริกา คนละ 100,000 เหรียญสหรัฐฯ แต่ทั้งหมดจะถูกบริจาคให้กับการกุศลและเพื่อการศึกษาอย่างละครึ่งตามแต่ละองค์กรที่ผู้เล่นเป็นคนเลือก
ทุกหลุมทุกแต้มมีความหมาย
ไรเดอร์คัพใช้การแข่งขันแบบโฟร์ซัมและโฟร์บอลในสองวันแรก ก่อนปิดท้ายด้วยซิงเกิ้ลแมตช์ในวันอาทิตย์ แข่งขันทั้งหมดรวม 28 คู่ ถ้าสหรัฐฯ ทำแต้มได้ถึง 14.5 แต้มก่อนจะได้แชมป์ไปครอง ขณะที่ยุโรปได้รับสิทธิ์ในฐานะแชมป์เก่า เพียงทำแต้มได้ถึง 14 แต้มก็จะถือว่าป้องกันแชมป์ได้ เพื่อการันตีว่าการแข่งขันจะไม่มีการจบลงด้วยการเสมอกันอย่างแน่นอน
ระบบการแข่งขันนี้ทำให้ทุกหลุมทุกแต้มของทุกคู่นั้นมีความหมาย แม้จะเล่นแย่ในหลุมก่อนหน้า หรือคะแนนตามหลังมากน้อยแค่ไหน ก็ยังมีโอกาสพลิกสถานการณ์กลับมาชนะได้
หนึ่งในการคัมแบ็คที่ตราตรึงแฟนกอล์ฟมากที่สุด คงต้องยกให้เหตุการณ์ “ปาฏิหาริย์ที่เมดินาห์” ในไรเดอร์คัพปี 2014 เมื่อทีมยุโรปสามารถพลิกสถานการณ์ในวันสุดท้ายจากที่ตามหลัง 6-10 แต้ม กลับมาเอาชนะได้อย่างมหัศจรรย์ในการแข่งขันซิงเกิ้ลแมตช์ โดยไล่ต้อนทีมสหรัฐฯ 8.5-3.5 แต้ม ก่อนเอาชนะไปได้ด้วยสกอร์ 14.5-13.5 แต้ม อีกทั้งยังเป็นการคว้าแชมป์บนแผ่นดินสหรัฐฯ อีกด้วย อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า โอกาสยังมีเสมอจนกว่าเกมจะจบลง
มิตรภาพสำคัญไม่แพ้ชัยชนะ
ช่วงเวลาของไรเดอร์คัพนั้นมีโมเม้นท์แห่งความทรงจำมากมาย โดยเฉพาะการแข่งขันที่สนุกเข้มข้น แต่เหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไรเดอร์คัพกลับจบลงด้วยคำว่า “มิตรภาพ”
ย้อนไปเมื่อปี 1969 การแข่งขันไรเดอร์คัพที่รอยัล เบิร์คเดล ถือเป็นการแข่งขันที่เข้มข้นสูสีที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีมา เมื่อการแข่งขัน 32 แมตช์ต้องตัดสินถึงฎีกาที่กรีนหลุมสุดท้ายมากถึง 18 คู่ (สมัยนั้นแข่งวันสุดท้ายแบบซิงเกิ้ลแมตช์เช้า 8 คู่ และบ่าย 8 คู่) กระทั่งต้องมาตัดสินกันที่คู่สุดท้ายระหว่าง โทนี่ แจ็คลิน กับ แจ็ค นิคลอส โดยที่ฝ่ายหลังเป็นเพียงรุกกี้ที่เพิ่งลงเล่นเป็นครั้งแรก
เกมระหว่าง แจ็คลิน กับ นิคลอส ดำเนินมาถึงหลุมสุดท้ายในขณะที่ทั้งคู่ยังคงเสมอกันอยู่ โดย นิคลอส เก็บพาร์ไปได้ก่อน และในขณะที่ แจ็คลิน กำลังจะพัตต์เซฟพาร์ระยะ 2 ฟุตที่หมายถึงความพ่ายแพ้ทันทีถ้าเขาพัตต์พลาด แต่ นิคลอส กลับทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ด้วยการเก็บมาร์คเกอร์ของอีกฝ่ายขึ้นมา และกล่าวว่า “ผมไม่ได้คิดว่าคุณจะพลาดหรอกนะ แต่ก็จะไม่ยอมให้คุณมีโอกาสพลาดด้วย” ส่งผลให้เกมจบลงทันทีด้วยการเสมอของทั้งคู่ และของทีม รวมถึงเป็นการเสมอกันครั้งแรกของสหรัฐฯ และยุโรปในประวัติศาสตร์ของไรเดอร์คัพอีกด้วย
โดย นิคลอส ได้เผยในภายหลังว่า รู้ซึ้งถึงความกดดันของ แจ็คลิน เป็นอย่างดี ในฐานะที่เขาเองก็กดดันกับการพัตต์ก่อนหน้านี้ที่ต้องพัตต์เพื่อโอกาสชนะของทีมสหรัฐฯ ขณะที่การกระทำครั้งนี้ของ นิคลอส ได้รับการยกย่องอย่างมาก ถึงความกล้าหาญและมีน้ำใจนักกีฬา และส่งผลให้เขากลายเป็นนักกอล์ฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งเท่าที่วงการกอล์ฟเคยมีมา
และไม่ใช่แค่ตัว นิคลอส เองเท่านั้น เพราะนั่นยังหมายถึงความยิ่งใหญ่ของ “ไรเดอร์คัพ” ที่มิตรภาพเองก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กับชัยชนะเช่นกัน
สำหรับการแข่งขันกอล์ฟ “ไรเดอร์คัพ ครั้งที่ 43” มีการถ่ายทอดสดทางทรูสปอร์ต เอชดี (666) โดยสองวันแรกคือ วันที่ 24 และ 25 กันยายน 2564 ถ่ายทอดสดระหว่าง 19.00 – 06.00 น. และวันสุดท้ายวันที่ 26 กันยายน 2564 ถ่ายทอดสดเวลา 23.00 – 05.00 น
แล้วมาลุ้นครับว่าครั้งนี้ทีม “สหรัฐฯ VS ยุโรป” ใครจะเป็นแชมป์!
**ร่วมพูดคุยเชียร์การแข่งขันไรเดอร์คัพ และทุกเรื่องราวเกี่ยวกับกอล์ฟได้ที่กลุ่ม Line OpenChat #HotGolf คลิก https://bit.ly/3zMOZbz