“วันกอล์ฟไทย” ถูกกำหนดไว้เป็นวันที่ 28 มิถุนายนของทุกปี ด้วยถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ของกีฬากอล์ฟในประเทศไทยอย่างแท้จริง เนื่องด้วยในวันนี้ของเมื่อพ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงกอล์ฟเป็นปฐมฤกษ์ ณ สนามกอล์ฟหลวงหัวหิน และถือว่าเป็นวันแห่งการเริ่มต้นของการแข่งขันกอล์ฟในประเทศไทย ก่อนถูกกำหนดให้เป็นวันกอล์ฟไทยอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา
สำหรับประวัติศาสตร์ของกีฬากอล์ฟในประเทศไทย ตามที่สมาคมกีฬากอล์ฟแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยแพร่ไว้ทาง www.tga.or.th เปิดเผยไว้ดังนี้…
ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ากีฬากอล์ฟเริ่มขึ้นเมื่อไรและได้กลายเป็นกีฬาแพร่หลาย เพราะราชูปถัมภ์ในสมัยเริ่มแรก ประมาณหัวเลี้ยวหัวต่อศตวรรษ ที่แล้วกีฬากอล์ฟซึ่งยังคงเล่นกันไม่แพร่หลายเช่นปัจจุบันได้รับความนิยมเฉพาะ ในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯแม้จะไม่โปรดทรงกอล์ฟนักแต่ก็ใน รัชสมัยของพระองค์ ที่สนามกอล์ฟแห่งแรกในประเทศไทย ได้ถูกสร้างขึ้น โดยพระบรมราชโองการเล่ากันว่า พระองค์ได้ทรงดำริให้สร้าง สนามกอล์ฟ 9 หลุม ที่บริเวณโรงแรมรถไฟใกล้ชายทะเลหัวหินเห็นได้ชัดว่า พระองค์ทรงตระหนัก ถึงความต้องการของพระบรมวงศานุวงศ์ และชาวต่างประเทศซึ่งมีพ่อค้าและ ทูตานุทูตในกรุงเทพฯที่อยากเล่นกีฬานี้ กีฬากอล์ฟเริ่มในประเทศไทย ตอนเริ่มศตวรรษที่ 20 ชาวไทยและชาวต่างประเทศได้เล่นที่สนามกอล์ฟ แห่งใดแห่งหนึ่งใน 3 แห่ง ในกรุงเทพฯ สนามกอล์ฟดังกล่าว คือราชกรีฑา ราชตฤณมัย และ พระราชวังสวนจิตรลดา
ในระยะเริ่มแรก ราชกรีฑา และราชตฤณมัย ได้กลายเป็นสนามประวัติศาสตร์ที่มีความเหมือนกันอย่างประหลาด โดยเหตุบังเอิญหรือเจตนาไม่ทราบได้ ทั้งสองสโมสรซึ่งต่างได้จัดแข่งขัน “กีฬาพระราชา” ได้สร้างสนามกอล์ฟ 18 หลุมขึ้นในสนามแข่งม้านั่นเอง โดยมีคลองเป็นเครื่องกีดขวาง เช่น สนามกอล์ฟทั่วไป หากคลองทั้ง 2 ของสโมสรราชกรีฑา และราชตฤณมัย สามารถจะพูดได้ละก็ คงจะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับกอล์ฟรวมเป็นเล่มๆ ทีเดียว
บ่อยครั้ง นักตีได้ออกรอบสนามทั้งสองในวันที่มีม้าแข่งและเล่นเฉพาะด้านในของสนามเท่านั้น เป็นเรื่องที่น่าประหลาดที่นักกอล์ฟซึ่งเล่นด้วยไม้กราไฟท์ ในสมัยนี้จะเล่นกอล์ฟในท่ามกลางคนดูถึง 20,000 คน ในวันแข่งม้า และรู้สึกสนุกสนานตลอดเวลาเสียด้วย หากกอล์ฟเริ่มกว่า 10 ปีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วไซร้ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเองที่ญี่ปุ่นได้ทำลายสถิติต่างๆ ซึ่งเป็นประวัติกีฬานี้เป็นส่วนใหญ่ ตามความเชื่อดั้งเดิมเป็นที่เชื่อกันว่า กอล์ฟเริ่มในประเทศไทย ประจวบกับการสร้างสโมสรราชกรีฑาในปี 1901 และมีสถิติที่น่าสนใจในปี 1906 ในสมุดบัญชีซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เหลืออยู่ภายหลังจากการซ่อมแซม มีรายการว่าได้รับเงินค่ากรีนฟี 74.14 บาท ในเดือนกันยายนในปีนั้น หลังจากสร้างสนามกอล์ฟที่ราชกรีฑาแล้ว ราชตฤณมัย และพระราชวังสวนจิตรลดาก็สร้างขึ้นนั้น และจากสนามทั้ง 3 แห่งนี้เอง กีฬากอล์ฟก็เริ่มจะเป็นกีฬาที่นิยมกันแพร่หลายในสมัยต่อมา
แรกทีเดียว กีฬานี้กล่าวได้ว่าเป็นกิจกรรมเล็กๆทางสังคม ภายหลังจากเล่น 9 หลุม หรือ 18 หลุม ก็อาจจะมีการดื่มและคุยกันเป็นที่สำราญบานใจ กอล์ฟกลายเป็นกีฬาที่แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายเมื่อสร้างสนามกอล์ฟหัวหินขึ้น ทั้งนี้เพราะสนามดังกล่าว เป็นสนามเพื่อการแข่งขันโดยตรง ทั้งสนามกอล์ฟหัวหินและโรงแรมรถไฟที่หัวหิน ล้วนเป็นโครงการที่กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน องค์ผู้ให้กำเนิดรถไฟทรงริเริ่มการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าของและดำเนินกิจการชายหาดแบบยุโรปจนถึงทุกวันนี้
วันที่ 28 มิถุนายน 1924 ประมาณ 20 เดือนภายหลังถือได้ว่า เป็นวันสำคัญยิ่งของประวัติสนาม เพราะในวันนั้นเองสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จไปเยือนสนามก่อนหน้าพระองค์จะสวรรคตเพียง 1 ปี พระองค์ได้ทรงเริ่มแต่หลุมแรก ท่ามกลางผู้ติดตามในโอกาสอันหาได้ยากนี้ ในวันนั้นเองถือเป็นวันประวัติศาสตร์แห่งการเริ่มการแข่งขันกอล์ฟในประเทศไทยต้องใช้เวลาอีก 2 ปี กว่าสนามกอล์ฟหัวหินจะขยายอีก 2,300 หลา เพื่อทำพาร์ 37 ดังนั้น สนามหัวหินจึงมี ระยะ 5,600 หลา และพาร์ 75 (38-37) กอล์ฟแพร่หลายขึ้นมากหลังรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล และกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินได้ทรงเลื่อนขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการพาณิชย์และคมนาคม สมเด็จพระอนุชารัชกาลที่ 6 เจ้าฟ้าประชาธิปกได้ทรงขึ้นครองราชย์เป็นรัชการที่ 7 พระองค์ทรงเป็นนักกอล์ฟ ดังนั้นจึงได้เสด็จสนามหัวหินบ่อยครั้ง จนกระทั่งกรมพระกำแพงเพชรฯ ทรงดำริให้สถาปนิกชาวอิตาลีสร้างศาลาขึ้น ่เพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์ในสนาม ศาลานี้เป็นงานศิลปะที่งดงาม ได้กระทำพิธีเปิดพร้อมกับสนามที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ ปลายปี 1928 ศาลานี้ได้รับการรักษาแม้ภายหลังรัชกาลที่ 7 จนกระทั่งบัดนี้ เมื่อ 6 ปีที่แล้วก็ได้ปรับปรุงขึ้นใหม่ และเมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม 1969 ศาลานี้ได้รับนาม “ประชาธิป” เพื่อเป็นที่ระลึกแด่พระองค์ท่าน และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ได้ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดศาลานี้ สนามกอล์ฟหัวหินซึ่งสร้างในสมัยแรกของกีฬานี้ จะเป็นประภาคารที่ส่องเห็นความเจริญของกีฬานี้ จนบัดนี้ สนามนี้ได้เป็นสนามที่ธรรมชาติที่สุด และต่างก็ยินดีปรีดาที่ได้มาแข่งยังสนามนี้ สนามกอล์ฟหัวหินซึ่งดำเนินการโดยการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ใช้เครื่องมือในการรดน้ำในระยะไม่กีปีนี้จึงทำให้สนามเขียวชอุ่มขึ้นไม่เป็นทรายและแห้งแล้งเช่นแต่ก่อนปัจจุบันสนามหัวหินซึ่งยาว 6,759 หลา พาร์ 72 นับเป็นสนามที่เยี่ยมที่สุดในจำนวนสนามกอล์ฟ 40 แห่งในประเทศ
สมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเป็นนักกอล์ฟที่โด่งดังในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ได้ทรงศึกษาในอังกฤษ เมื่อเสด็จกลับพระนครในวัยหนุ่ม พระองค์ทรงเป็นนักกีฬาเต็มตัว กีฬาที่ทรงถนัดคือ ขี่ม้า สควอช เทนนิส และกอล์ฟ นอกจากทรงกอล์ฟแล้ว พระองค์ยังได้ส่งเสริมให้กีฬาดังกล่าวได้แพร่หลาย ก่อนขึ้นครองราชย์หนึ่งปี พระองค์ได้ทรงกอล์ฟที่ราชกรีฑาเป็นประจำ แม้ขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์ยังทรงสนพระทัยในกีฬานี้อยู่ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีก็ได้ทรงนิยมในกีฬานี้ด้วย แต่เพราะทรงมีภารกิจประจำ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีจึงได้ทรงกอล์ฟไม่ได้มากดังพระประสงค์ กอล์ฟได้กลายเป็นกีฬาที่โปรดปรานในราชสำนัก และแม้ในระหว่างงานเลี้ยง ก็ได้เป็นเรื่องที่อยู่ในวงสนทนาอยู่เป็นประจำ เลยทำให้คนที่ไม่ได้เล่นกอล์ฟรู้สึกรำคาญไปด้วย แต่ในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนในตามคำพังเพยที่ว่า “ถ้าเอาชนะเขาไม่ได้ก็ต้องร่วมกับเขา” สมเด็จพระปกเกล้าฯ นอกจากจะทรงเป็นนักกอล์ฟแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นนักการทูตด้วยเพื่อไม่ให้นักกอล์ฟได้พูดกันพร่ำเพรื่อ มีเรื่องเล่าว่า พระองค์ได้จัดให้มีหีบเงินสีเขียวไว้ในราชสำนักหากใครพูดถึงกอล์ฟก็จะต้องถูกปรับ 1 บาท ซึ่งมีค่าพอสมควรในสมัยนั้น และเก็บไว้ในหีบเงินนั้น และปรากฏว่าได้ผล เพราะหีบเงินเต็มไปด้วยเหรียญ และซ้ำร้ายมีธนบัตรในละ 10 อีกด้วย อันหลังนี้เป็นค่าปรับสำหรับผู้ออกท่าทางกอล์ฟนั่นเอง
นอกจากจะทรงสนพระทัยในฐานะนักกอล์ฟสมัครเล่นแล้ว พระองค์ยังได้ค้นพบนักกอล์ฟอาชีพคนแรกของไทยอีกด้วย โดยมีอยู่ครั้งหนึ่งที่หัวหิน พรองค์ทรงทีออฟเลยต้องหารือกับแคดดี้หนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งถวายคำแนะนำ และเมื่อทรงถามถึงชื่อก็ได้รับคำตอบว่า “ทิม กันร้าย พระพุทธเจ้าข้า” ตั้งแต่นั้นมา ชื่อ ทิม ทัพพวิบูล จึงได้กลายเป็นชื่อที่กล่าวขวัญถึงเสมอในประวัติกอล์ฟไทย เพราะครูทิมชนะการแข่งขันเกือบทุกครั้งในสมัยนั้น และได้ไปแข่งที่ฟิลิปปินส์ในปี 1930 และประสบชัยชนะกลับมา ที่พม่า ครูทิมก็มีชัยหลายครั้ง และในการแข่งขันไทยแลนด์โอเพ่น ซึ่งพระองค์ทรงริเริ่ม ครูทิมก็ทำสถิติชนะเลิศถึงร่วม 10 ปีด้วยกัน ต่อมาครูทิมก็มีคู่ปรับคือ ชลอ จุลกะ ซึ่งเป็นผู้ชนะเลิศการแข่งขันหลังปี 1930 จวบจนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนักตีลายครามทั้ง 2 นี้เอง จึงได้เกิดศักราชนักตีอาชีพขึ้นในประเทศไทย ครูทิมมีลูกๆ ซึ่งเป็นนักตีชั้นแนวหน้า ส่วนครูชลอก็ได้ให้การสนับสนุนนักตีรุ่นหนุ่มหลายคน เช่น สุกรี อ่อนฉ่ำ นักตีอันดับหนึ่ง และ สุจินต์ สุวรรณพงษ์ (อาจินต์ โสพล) ซึ่งได้ไปทำประวัติกอล์ฟเวิลด์คัพให้กับไทยเมื่อปี 1969 ที่สิงคโปร์ สนามกอล์ฟจิตรลดาหยุดกิจการไปหลายปี แต่สนามกอล์ฟดุสิตยังคงรุ่งเรืองต่อไป และยังเป็นสำนักงานของสมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทยอีกด้วย ทางด้านราชกรีฑาก็ได้บูรณะซ่อมแซมหลังจากถูกญี่ปุ่นยึดครอง และหลังสงครามก็ได้ตั้งคณะกรรมการกอล์ฟพิเศษขึ้น เพื่อจัดสร้างสนามเริ่มจาก 9 หลุมในปี 1948 แล้วต่อจากนั้นเป็น 11 หลุม จนครบ 18 หลุม และจัดการแข่งขันระหว่างสโมสรกับดุสิต เรียกฟีนิกซ์คัพ ในวันที่ 8 มกราคม 1950
จากนั้นสมาคมกอล์ฟจดทะเบียนในปี 1930 เมื่อเริ่มการแข่งขันไทยแลนด์โอเพ่น แต่ไม่มีบันทึกรายละเอียดเรื่องนี้ ดังนั้น ประวัติสมาคมกอล์ฟในยุคใหม่จึงเริ่มตั้งแต่ปี 1964 นั่นเอง โดยประจวบกับการที่ไทยได้เข้าร่วมการแข่งขันกอล์ฟเซอร์กิจแห่งภาคตะวันออกไกล ซึ่งบัดนี้เรียกว่า เอเซียกอล์ฟ เซอร์กิต โดยมีฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย ร่วมด้วย รวมถึงได้จัดการแข่งขันไทยแลนด์โอเพ่นขึ้น ในเดือนมีนาคม 1965 โดยมีเงินรางวัล 2 แสนบาท ไทยเป็นสนามที่ 5 ของการแข่งขันเซอร์กิจครั้งนั้น
ในระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา การแข่งขันไทยแลนด์โอเพ่นได้ก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง และเงินรางวัลก็ได้เพิ่มขึ้นอีก ในระยะแรก สนามที่ใช้จัดการแข่งขันไทยแลนด์โอเพ่นคือ สนามกองทัพอากาศดอนเมือง ในปี 1970 สมาคมกอล์ฟได้เลือกสนามกอล์ฟบางพระเป็นสนามแข่ง ปี 1973 ได้ย้ายไปสนามสยามคันทรีคลับ ที่พัทยา ปี 1974 และ 1975 ได้หวนกลับมาที่บางพระอีก กระทั่งไทยแลนด์ โอเพ่น ครั้งล่าสุดจัดในปี 2019 ที่ผ่านมา โดยผู้ชนะคือ จอห์น แคตลิน โปรชาวสหรัฐฯ ที่ได้รับเงินรางวัลไปมากถึง 1.62 ล้านบาทเลยทีเดียว
Cr. สมาคมกีฬากอล์ฟแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
เรียบเรียง HotGolf