Site icon เว็บไซต์ HotGolfClub.com เว็บไซต์กีฬากอล์ฟอันดับหนึ่ง ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์ต่อวงการกอล์ฟ และอยู่เคียงคู่กับนักกอล์ฟมายาวนานกว่า 20 ปี

คุณสเตซี่ วอลตัน, บันยันกรุ๊ป “หลังจากนี้เราจะต้องทำงานให้หนักขึ้นในฐานะการเป็นกอล์ฟเดสติเนชั่น”

พิสูจน์ตัวเองอีกครั้งในการรักษาความเป็นสนามกอล์ฟที่ดีที่สุดในเอเชียแปซิฟิค สำหรับ “บันยัน กอล์ฟคลับ” หัวหิน เมื่อคว้าถึง 10 รางวัลใหญ่ จากงานประกาศรางวัลเอเชี่ยนกอล์ฟอวอร์ด ครั้งที่ 20 ในปีนี้ โดยเฉพาะการคว้ารางวัล “BEST GOLF CLUB EXPERIENCE AWARD” (ASIA PACIFIC) ได้อีกครั้ง ซึ่งเปรียบเหมือนกับการได้รับรางวัลออสการ์ในอุตสาหกรรมกอล์ฟเลยทีเดียว

นอกจากนี้ คุณสเตซี่ วอลตัน, ผู้จัดการทั่วไปและผู้อำนวยการสูงสุดแห่งบันยันกรุ๊ป ยังทำหน้าที่ตัวแทนประเทศไทย ในการขึ้นรับรางวัลรองชนะเลิศ Best Golf Destination in Asia Pacific บนเวทีเดียวกัน ก่อนกลับมานำมามอบต่อให้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่เป็นทั้งรางวัล และเสมือนกับสัญญานเตือนว่า กอล์ฟเดสติเนชั่นน้องใหม่อย่างเวียดนามที่ได้รางวัลชนะเลิศในปีนี้นั้นกำลังมาแรง และจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไทยในอนาคต

HotGolf มีโอกาสได้สัมภาษณ์พูดคุย คุณวอลตัน ถึงการได้รางวัลในครั้งนี้ ทั้งในฐานะบันยัน กอล์ฟคลับ และประเทศไทย ถึงเป้าหมายต่อไป โดยเฉพาะการทำงานอย่างหนักเพื่อกลับมาทวงตำแหน่งกอล์ฟเดสติเนชั่นอันดับ 1 อีกครั้ง

HG : รู้สึกอย่างไรบ้างกับการได้รับถึง 10 รางวัลจากเวทีเอเชี่ยนกอล์ฟอวอร์ด 2019
คุณวอลตัน : มันเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก และยังเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ บันยัน กอล์ฟคลับ มีอายุครบ 10 ปีพอดี โดยเฉพาะรางวัล The Ultimate Service/Hospitality Award ที่เราได้จากคุณภาพในการบริการของเรา สนามของเราเป็นสนามระดับพรีเมี่ยมที่ช่วยส่งเสริมให้กอล์ฟเป็นที่รู้จักทั้งในไทย และในระดับนานาชาติ ที่ผ่านมาเราถูกรู้จักในฐานะกอล์ฟเดสติเนชั่นของประเทศไทย เช่นเดียวกับอีกหลายสนามที่ช่วยผลักดันการเติบโตด้านการท่องเที่ยวในประเทศ หัวหินเองถือเป็นกอล์ฟเดสติเนชั่นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ด้วยการมีสนามกอล์ฟถึง 8 แห่ง เสริมด้วยบริการด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม, กิจกรรมการท่องเที่ยว และบริการด้านการอำนวยความสะดวกต่างๆ ด้วยมาตรฐานที่สูงมาก และนั่นทำให้กอล์ฟเป็นส่วนสำคัญในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ
ผมอยากพูดถึงอีกหนึ่งรางวัลที่เราได้รับในครั้งนี้ในฐานะประเทศไทย นั่นรางวัลรองชนะเลิศ Best Golf Destination in Asia Pacific จากที่ก่อนหน้านี้เราเคยได้รางวัลชนะเลิศมาแล้วหลายครั้ง และมันช่วยให้แสดงให้เห็นว่าตอนนี้มีการเติบโตของเดสติเนชั่นกอล์ฟในหลายแห่ง อย่างเช่น เวียดนาม หรือกัมพูชา โดยเฉพาะเวียดนามที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และมีกลุ่มเป้าหมายกลุ่มเดียวกับของเราในตอนนี้ และอย่างยิ่งกับข้อได้เปรียบของพวกเขาคือ เวียดนามนั้นมีสนามกอล์ฟใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ตลอดจนโรงแรมที่พักใหม่ๆ รวมถึงสนามบินใหม่หลายที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ดานัง ที่เป็นสนามบินนานาชาติ และมีไฟลท์บินทั้งจากฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประตูสำคัญในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ และเมื่อเปรียบเทียบกับหัวหินแล้ว ที่เราแม้จะมีสนามบินเช่นเดียวกัน แต่ก็มีให้บริการแค่ไฟลท์จากกัวลาลัมเปอร์เท่านั้น มันจึงสำคัญมากที่หลังจากนี้เราจะต้องทำงานให้หนักขึ้นในฐานะการเป็นกอล์ฟเดสติเนชั่น

HG : ในฐานะเป็นตัวแทนที่รับมอบรางวัล Best Golf Destination in Asia Pacific ของประเทศไทย คุณคิดว่าททท.ยังต้องทำงานเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง
คุณวอลตัน : ผมคิดว่า ททท.ทำงานได้ยอดเยี่ยมมาก พวกเขาสนับสนุนเราเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในรายการหัวหิน-ชะอำกอล์ฟ เฟสติวัล ที่จัดมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปิดตลาดสู่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจากงาน Thailand Golf Travel Mart ที่เชิญชวนกลุ่มเป้าหมายจากทั่วโลกมายังเมืองไทยเพื่อโปรโมตสนามกอล์ฟของเรา หรืองาน Asia Golf Tourism Convention โดย IAGTO ที่ก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี
ททท.แข็งขันอย่างมากในการผลักดันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ผมเองทำงานอย่างใกล้ชิดกับ คุณธเนศวร์ เพชรสุวรรณ (รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท.) ที่ท่านก็เป็นนักกอล์ฟ และมีส่วนช่วยผลักดันวงการกอล์ฟอย่างมากในเวลานี้ ถ้าหากมีสิ่งอื่นที่ททท.จะยังสามารถทำได้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องของการจัด FAM Trip จากต่างชาติ เพื่อโปรโมตความเป็นกอล์ฟเดสติเนชั่นของประเทศไทย แต่สิ่งสำคัญคือกอล์ฟเป็นตลาดที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม ดังนั้นเราจึงต้องวางแผนในตลาดที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเราจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น จีน, ฮ่องกง หรือสิงคโปร์

HG : จากการทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมสนามกอล์ฟ คุณคิดว่าสนามกอล์ฟอื่นๆ ต้องยกระดับตัวเองอย่างไร
คุณวอลตัน : ปัจจุบันเรามีสนามกอล์ฟในประเทศไทยมากถึง 250 สนามทั่วประเทศ แต่ถ้าตัดสนามทหารออกไปเราก็น่าจะเหลืออยู่ราว 150 สนาม หลายสนามเป็นสนามปิด แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสนามปิดที่มีชื่อเสียงอย่างมาก อาทิ ไทย คันทรีคลับ หรือสโมสรราชพฤกษ์ สนามเหล่านี้เป็นสนามที่มีความหรูหราอย่างมาก แต่ปัญหาคือหลายสนามค่อนข้างเข้มงวด และไม่เปิดให้นักกอล์ฟจากต่างชาติเข้าไปเล่นได้ ด้วยการเป็นสนามปิดให้เฉพาะเมมเบอร์ หรือปัจจัยด้านบริหารจัดการต่างๆ โดยเฉพาะค่าสมาชิกที่สูง ทำให้เกิดความคาดหวังที่สูง ส่งผลให้สนามกอล์ฟเหล่านี้ต้องมีความเข้มงวดเป็นพิเศษ ผมคิดว่ามันจะดีมากถ้าพวกเขายอมผ่อนปรนให้กลุ่มนักกอล์ฟจากต่างชาติที่อยู่ในระดับที่สามารถจ่ายได้ สามารถเข้าถึงสนามกอล์ฟสุดหรูเหล่านี้
อีกปัญหาหนึ่งที่ผมมองเห็นคือ สนามกอล์ฟหลายแห่งในไทยมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี เพราะในช่วงยุค 90 ที่เศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตอย่างมาก ทำให้มีสนามกอล์ฟเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เมื่อมาถึงตอนนี้สนามเหล่านั้นเริ่มทรุดโทรมลง บางแห่งขาดการดูแล ผมคิดว่าการพัฒนาปรับปรุงคลับเฮ้าส์และสิ่งอำนวยความสะดวกในกลุ่มสนามเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะไม่เช่นนั้นพวกเขาจะไม่สามารถแข่งขันกับสนามกอล์ฟใหม่ๆ ได้
ถึงตอนนี้ประเทศไทยยังคงมีสนามกอล์ฟเกิดใหม่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ผมมองว่าจำนวนสนามกอล์ฟนั้นใกล้ถึงขีดจำกัดเต็มที โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าถ้าหากเราไม่อยากอยู่ในสถานการณ์ที่สนามกอล์ฟนั้นเยอะกว่าคนเล่นกอล์ฟ ด้วยตัวเลขนักกอล์ฟของเรานั้นไม่ได้เยอะมาก อีกทั้งสนามกอล์ฟนั้นมีต้นทุนค่อนข้างสูง และถ้าหากสนามไหนขาดทุนมันก็เสี่ยงที่พวกเขาจะปิดกิจการ เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดกอล์ฟของสหรัฐฯตอนนี้ แต่ในแง่ดีคือ ตลาดกอล์ฟในเอเชียยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงเรายังมีนักกอล์ฟผู้หญิงมากขึ้น และอย่างยิ่งที่ในไทยเรามีการแข่งขันระดับแอลพีจีเอทัวร์ที่เป็นตัวดึงดูดอีกด้วย
ตลาดที่ผมมองว่าน่าสนใจมากในตอนนี้คือ สิงคโปร์ เนื่องด้วยภายในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีสนามกอล์ฟในสิงคโปร์หลายสนามที่ปิดตัวลง เพื่อนำที่ดินไปใช้พัฒนาประโยชน์อย่างอื่น และผมคิดว่ามันเป็นโอกาสที่สำคัญของตลาดกอล์ฟในไทยที่โฟกัสไปที่กลุ่มนักกอล์ฟในสิงคโปร์ แต่ขณะเดียวกันกลุ่มตลาดนักกอล์ฟสิงคโปร์เป็นกลุ่มที่มีความคาดหวังสูงมาก เนื่องจากสนามกอล์ฟในสิงคโปร์ให้บริการด้วยมาตรฐานที่สูงมาตลอด ดังนั้นจึงจำเป็นเช่นกันที่สนามกอล์ฟในไทยจะต้องพัฒนาและปรับปรุงในส่วนต่างๆ เพื่อรอรองรับกลุ่มนักกอล์ฟเหล่านี้

HG : ย้อนกลับมาที่สนามบันยัน หลังจากนี้จะมีการปรับเปลี่ยน หรือเพิ่มเติมอะไรหรือไม่
คุณวอลตัน : ด้วยเลย์เอ้าท์ดั้งเดิมของบันยันที่พิสูจน์ตัวเองมากมาย จากการได้รับทั้งรางวัลสนามกอล์ฟที่ดีที่สุดในประเทศไทย และในเอเชียแปซิฟิค รวมถึงมาตรฐานที่อยู่ในระดับแชมเปี้ยนชิพคอร์ส มันทำให้เรายังไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่ๆ มากนัก สิ่งที่เราต้องทำคือรักษาคุณภาพของสนามให้อยู่ในระดับสูงสุดอยู่ตลอดเวลา แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่เรากำลังพิจารณากันอยู่ และคุณอาจได้เห็นในอนาคต นั่นคือ การขยับระยะของสนามให้สั้นลง อย่างที่คุณเห็นว่ากรีนของบันยันนั้นไม่ได้เป็นกรีนที่ใหญ่มาก ดังนั้นการขยับระยะเพื่อให้เกมกอล์ฟเป็นมิตร เร็วขึ้น และสนุกขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น สนามกอล์ฟที่ระยะยาว และยาก ทำให้นักกอล์ฟเสียเวลามากเกินไป โดยเฉพาะเมื่อตอนนี้ในอุตสาหกรรมกอล์ฟต้องยอมรับว่ายอดตัวเลขนักกอล์ฟนั้นตกลงมาก ตอนนี้ผู้คนไม่ได้มีเวลาถึง 5-6 ชั่วโมงเพื่อที่จะมาตีกอล์ฟอีกต่อไป อย่างยิ่งกับคนรุ่นใหม่ๆ เราจึงพิจารณาว่าอาจจะปรับให้เกมกอล์ฟที่บันยันนั้นสั้นขึ้น เร็วขึ้น และสนุกขึ้นด้วย

HG : ทิ้งท้ายอยากฝากอะไรถึงนักกอล์ฟชาวไทย
คุณวอลตัน : สิ่งที่ผมอยากบอกคือ บันยัน กอล์ฟคลับ นั้นเป็นสนามกอล์ฟที่มีความพิเศษ ไล่ตั้งแต่เลย์เอ้าท์ที่ถูกดีไซน์โดย คุณพิรพน นะมาตร์ นักออกแบบสนามกอล์ฟมือหนึ่งของไทย และเราก็ภูมิใจกับสนามเขาที่ออกแบบมาก มันคือผลงานระดับมาสเตอร์พีซ และเป็นหนึ่งในผลงานที่ดีที่สุดของเขา ขณะที่ตัวคลับเฮ้าส์ของเราก็มีความไม่พิเศษไม่แพ้กัน เมื่อได้บริษัท สำนักงานสถาปนิกกรุงเทพ จำกัด ที่มีชื่อเสียงอย่างมากมาเป็นผู้ออกแบบ อย่างที่คุณเห็นว่าคลับเฮ้าส์ของเราถูกออกแบบเป็นดีไซน์ทั้งแบบไทยแบบดั้งเดิม, แบบโมเดิร์น และแบบไทยร่วมสมัยเข้าด้วยกัน ทั้งหมดนี้ด้วยดีไซน์ รวมถึงที่ตั้งของสนาม ทำให้บันยันเป็นสถานที่ที่พิเศษ และไม่มีที่ไหนสามารถมาเลียนแบบได้
สิ่งที่ผมอยากทิ้งท้ายคือ นักกอล์ฟชาวไทยหลายคนมักคิดว่า บันยันเป็นสนามกอล์ฟที่มีค่ากรีนฟีสูง แต่ที่จริงเรามีการจัดโปรโมชั่นให้กับนักกอล์ฟคนไทยอยู่เสมอ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์บุ๊คกิ้งของเราที่มีการนำเสนอโปรโมชั่นอยู่ตลอด และอย่างยิ่งกับช่วงโลว์ซีซั่น ระหว่างเดือนมิ.ย.-ต.ค. ที่ราคากรีนฟีค่อนข้างถูก และมีทีไทม์ให้เลือกเยอะ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราจะมีโอกาสได้ต้อนรับคุณที่บันยัน กอล์ฟคลับ ของเราครับ