“คุณพรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล” นายกสมาคมสนามกอล์ฟไทยสมัยที่ 16 กับการเผชิญหน้าวิกฤตโควิด-19
ยังคงได้รับความใว้วางใจจากบรรดาสมาชิก ให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสนามกอล์ฟไทย เป็นสมัยที่ 6 ติดต่อกัน สำหรับ “คุณพรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล” ประธานสนามกอล์ฟเดอะ อาร์จี ซิตี้ กอล์ฟคลับ และเดอะ อาร์จี ศาลายา กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ต คลับ
ในโอกาสที่ได้รับเลือกอีกครั้ง ทีมงาน HotGolf มีโอกาสได้สัมภาษณ์พูดคุยกับ คุณพรสิทธิ์ โดยเฉพาะแผนงานในช่วงเวลาของวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจสนามกอล์ฟ เนื่องจากที่ผ่านมา ยอดนักกอล์ฟจากต่างชาติถือเป็นรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงสนามกอล์ฟมาโดยตลอด
HG: วางแผนงานหลังได้รับเลือกอีกครั้งไว้อย่างไร
คุณพรสิทธิ์: อันดับแรกผมต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ในปีนี้เรามีสนามกอล์ฟเข้ามาเป็นสมาชิกของสมาคมฯ เพิ่มอีกกว่า 10 สนาม ส่วนเรื่องหลักๆ ที่เราคุยกันในที่ประชุมก็คือ โครงการต่างๆ ที่เราทำในช่วงปีที่ผ่านมา แต่หลายโครงการต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากปัญหาโควิด-19 อีกทั้งยังส่งผลให้สนามกอล์ฟทั่วประเทศต้องหยุดให้บริการในช่วงล็อคดาวน์ กระทั่งได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา
ที่ผ่านมา สมาคมสนามกอล์ฟไทยของเราได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทางภาครัฐ แต่ต้องยอมรับว่าถึงตอนนี้มีหลายสนามกอล์ฟที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก มีนักกอล์ฟมาใช้บริการไม่ถึงอัตรา 50% จากช่วงเวลาปกติ เนื่องจากประเทศของเรายังไม่เปิดรับให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศมาได้ มีเพียงยอดใช้บริการจากนักกอล์ฟชาวไทยที่ยังคอยให้การสนับสนุนสนามกอล์ฟของเราในตอนนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าธุรกิจสนามกอล์ฟเป็นธุรกิจที่ไม่สามารถหยุดให้บริการได้เลย เนื่องจากเรายังมีพนักงาน, ต้นไม้ ต้นหญ้า ที่ต้องดูแลในทุกๆ วัน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานยังคงที่ แต่ว่ารายได้นั้นลดลงครึ่งต่อครึ่ง
สำหรับนโยบายในตอนนี้ สิ่งที่สำคัญคือ การรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นความร่วมไม้ร่วมมือของสนามกอล์ฟจึงจำเป็นจะต้องมีมากขึ้น เช่นเดียวกับการสื่อสารต่างๆ หรือการร่วมมือกันในรูปแบบของคลัสเตอร์ ตลอดจนการร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพูดคุย และประชุมร่วมกันมาแล้วหลายครั้ง จนปัจจุบันได้เริ่มมีการกลับมาจัดแข่งขันได้แล้วบ้าง, หรือการจัดทำแพ็คเกจราคาพิเศษโดยที่ทางททท.ให้การสนับสนุนด้วยส่วนหนึ่ง
หลังจากนี้ทางสมาคมฯ ก็จะมีการวางแผนที่มากขึ้น ตัวผมเองแม้จะได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมฯ เป็นสมัยที่ 6 แต่ปีนี้เราก็มีคณะกรรมการหน้าใหม่ๆ เป็นคนวัยหนุ่มที่เพิ่มเติมเข้ามา ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีไอเดียที่สดใหม่เพิ่มเติมเข้ามาในปีนี้
HG: การลดราคาของสนามกอล์ฟในวิกฤตนี้ จะผลกระทบต่อโครงสร้างราคาในระยะยาวหรือไม่
คุณพรสิทธิ์: ผมมองว่าการลดราคาในตอนนี้เกิดขึ้นกับทุกธุรกิจ เพื่ออย่างน้อยที่จะได้มีรายได้เข้ามาบ้าง ให้เข้ามาจุนเจือธุรกิจ และเราคงไม่ได้ลดราคาเช่นนี้ตลอดไป เนื่องจากต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่เป็นราคาที่ลดแล้วขาดทุน แต่อย่างน้อยก็ยังทำให้สนามกอล์ฟสามารถรักษาธุรกิจเอาไว้ ตลอดจนการบำรุงรักษาต่างๆ ไปจนถึงการรักษาพนักงาน และแคดดี้ให้อยู่กับเราต่อไป ซึ่งต้องยอมรับว่าสนามกอล์ฟเป็นธุรกิจที่แทบไม่สามารถลดต้นทุนลงได้เลย เนื่องจากเราทำงานกับสิ่งมีชีวิตอย่างต้นไม้หรือต้นหญ้าที่ต้องดูแลตลอดเวลา หรือแม้แต่แคดดี้เองก็ตาม ทำให้ตอนนี้เป็นเรื่องของพยุงธุรกิจให้รอดจากวิกฤตนี้ให้ได้ โดยเฉพาะโซนสนามกอล์ฟที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักก็อาจจะลำบากมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ก็ต้องเฝ้ารออย่างอดทนให้วิกฤตนี้ผ่านพ้นไปโดยเร็วที่สุด แล้วเมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ ก็เชื่อว่าธุรกิจสนามกอล์ฟก็น่าจะกลับมาอยู่ในจุดที่เคยเป็นได้เช่นกัน
HG: ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นไว้อย่างไร
คุณพรสิทธิ์: ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากจะประเมินความเสียหายได้ ทั้งจากช่วงล็อคดาวน์ที่สนามกอล์ฟทั่วประเทศต้องหยุดให้บริการชั่วคราวเป็นเวลามากกว่าหนึ่งเดือน จนมาถึงตอนนี้ที่เรายังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้ามา แต่ในเรื่องรายได้ที่หายไปคงต้องยอมรับว่า หายไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง ส่วนความเสียหายของแต่ละสนามคงต้องขึ้นอยู่กับรูปแบบการดูแลสนามกอล์ฟของแต่ละสนามซึ่งแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม แม้จะรายได้ลดลง แต่ผมยังเชื่อว่าสนามกอล์ฟส่วนใหญ่ก็ยังพยายามที่จะรักษามาตรฐานของตัวเองเอาไว้ให้ได้มากที่สุดภายใต้งบประมาณที่มี
HG: กังวลกับวิกฤตในระยะยาวหรือไม่
คุณพรสิทธิ์: ผมคิดว่าเราไม่ได้กังวลอะไรขนาดนั้น เพราะที่ผ่านมาสนามกอล์ฟแต่ละสนามก็มีการพัฒนาและการทำงานร่วมกันมาตลอด ดังจะเห็นได้จากหลายโครงการที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการร่วมกับททท. หรือการพัฒนาจุดเด่นของเราอย่างแคดดี้ ที่ได้มีการเสริมทักษะให้อย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงโครงการเพิ่มจำนวนประชากรกอล์ฟของไทย ไปจนถึงการเพิ่มจำนวนประชากรกอล์ฟที่มาจากต่างประเทศที่เราเน้นเป็นหลัก
ทั้งหมดข้างต้นเป็นแผนการระยะยาวที่เราทำมาตลอด เพียงแต่หลายเรื่องต้องสะดุดลงเนื่องจากวิกฤตที่เกิดขึ้น แล้วเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง เราก็ต้องกลับมาทำโครงการที่หยุดไว้กันต่อ แต่อาจจะเป็นในรูปแบบที่ค่อยเป็นค่อยไป ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า ตอนนี้เราต้องการการสนับสนุนมากขึ้น อาทิ ประเด็นภาษีสรรพสามิตกับทางภาครัฐ ที่ก่อนหน้านี้ก็มีการยกเว้นมาให้แล้วระยะหนึ่ง แต่ในเมื่อสถานการณ์ยังไม่กลับมาเป็นปกติ 100% เราก็อาจะมีการส่งเรื่องเพื่อขอให้มีการยืดระยะยกเว้นภาษีออกไป ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการชุดใหม่ที่จะศึกษาเรื่องนี้ต่อไป
HG: สนามกอล์ฟในประเทศไทยตอนนี้มีจำนวนมากเกินไปหรือไม่
คุณพรสิทธิ์: เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตอบยาก ผมอยากเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยที่มีประชากร 70 ล้านคน เรามีจำนวนสนามกอล์ฟ 250 สนาม แต่เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่มีประชากร 125 ล้านคน แต่มีสนามกอล์ฟมากถึง 2,000 สนาม ดังจะเห็นได้ว่าตัวเลขนั้นต่างกันมาก
ขณะที่ในแง่ของการมองว่าสนามกอล์ฟบ้านเรามีจำนวนเยอะเกินไปหรือไม่ ผมมองว่าขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ เพราะนี่คือการนำที่ดินมาสร้างรายได้ อีกทั้งยังเป็นการนำรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่ประเทศด้วย อีกทั้งด้วยสนามกอล์ฟของประเทศไทยที่มีความสวยงาม มีชื่อเสียงในระดับโลก ยังเป็นการนำรายได้เข้าสู่ธุรกิจอื่นๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม หรือร้านอาหารต่างๆ โดยที่ผ่านมาทางสมาคมฯ ก็ได้ร่วมกับททท. ในการออกไปคุยธุรกิจยังประเทศกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ปีละครั้งมาตลอดเป็นระยะเวลา 6 ปีติดต่อกัน
นอกจากนี้เรายังมีแผนโปรโมตสนามกอล์ฟของประเทศไทยอีกหลากหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือ การที่เรามีนักกอล์ฟที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ก็เป็นการช่วยโปรโมตประเทศไทยในฐานะเดสติเนชั่นกอล์ฟอีกทางหนึ่ง รวมถึงอีกหลายวิธีที่ทางสมาคมฯ ก็จะยังคงเดินหน้าต่อไป